ส่วนจังหวัดในภาคกลางนั้น ราชบัณฑิตยสถานได้แบ่งพื้นที่ประเทศไทยออกเป็น 6 ภาคตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยให้ภาคกลางประกอบไปด้วยเขตการปกครอง 22 จังหวัด (อ้างอิงจากวิกิพีเดีย) ดังนี้ ...
กรุงเทพมหานคร
กำแพงเพชร
ชัยนาท
นครนายก
นครปฐม
นครสวรรค์
นนทบุรี
ปทุมธานี
พระนครศรีอยุธยา
พิจิตร
พิษณุโลก
เพชรบูรณ์
ลพบุรี
สมุทรปราการ
สมุทรสงคราม
สมุทรสาคร
สระบุรี
สิงห์บุรี
สุโขทัย
สุพรรณบุรี
อ่างทอง
อุทัยธานี
นอกจากภาคกลางจะเป็นจุดศูนย์กลางทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว ภาคกลางยังเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมของแต่ละภาคอีกด้วย เนื่องจากบางจังหวัดในภาคกลางคาบเกี่ยวระหว่างภาคต่าง ๆ มากมาย ซึ่งในวันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาคกลางมาฝากกันค่ะ ไปดูกันซิว่า ประเพณีและวัฒนธรรมของภาคกลาง จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างไรบ้าง...

เป็นที่รู้กันดีว่า เพลงพื้นบ้านของแต่ละภาคนั้น เกิดจากการที่ชาวบ้านเป็นผู้สร้างบทเพลงดังกล่าว และขับร้องสืบทอดต่อกันมากปากต่อปาก โดยส่วนมากเพลงพื้นบ้านจะเป็นเพลงที่มีคำร้องง่าย ๆ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น ๆ ส่วนในภาคกลาง เพลงพื้นบ้านก็จะแต่งมาจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยแยกเป็นประเภท ได้ดังนี้
- เพลงที่ร้องเล่นในฤดูน้ำมาก ได้แก่ เพลงเรือ เพลงร่อยพรรษา เพลงรำภาข้าวสาร เพลงหน้าใย เพลงครึ่งท่อน เป็นต้น
- เพลงที่ร้องเล่นในฤดูเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นรำกำเคียว เพลงจาก ซึ่งใช้ร้องเล่นระหว่างเกี่ยวข้าว สำหรับเพลงสงฟาง เพลงพานฟาง เพลงโอก เพลงสงคอลำพวน เพลงเตะข้าว และเพลงชักกระดานใช้ร้องเล่นระหว่างนวดข้าว
- เพลงที่ร้องเล่นในช่วงตรุษสงกรานต์ ได้แก่ เพลงสงกรานต์ เพลงหย่อย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงพวงมาลัย เพลงสันนิษฐาน เพลงคล้องช้าง เพลงใจหวัง เพลงฮินเลเล เพลงกรุ่น เพลงยั่ว เพลงชักเย่อ เพลงเข้าทรงต่าง ๆ เป็นต้น
- เพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาส เพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และเกิดความสามัคคีในหมู่คณะมักจะร้องเล่นกันในโอกาสทำงานร่วมกัน หรือมีงานบุญและงานรื่นเริงต่าง ๆ โดยเป็นเพลงในลักษณะพ่อเพลงแม่เพลงอาชีพที่ใช้โต้ตอบกัน ได้แก่ เพลงเทพทอง เพลงปรบไก่ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงทรงเครื่อง เป็นต้น


ถ้าเอ่ยถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ชาวภาคกลางก็มีดนตรีครบทุกประเภท ทั้ง ดีด สี ตี เป่า เรียกได้ว่า ครบเครื่องเลยทีเดียว เนื่องจากชาวภาคกลางก็ให้ความสำคัญกับเพลงพื้นบ้าน และมักจะร้องเพลงในหมู่คณะเพื่อให้เกิดความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน สำหรับเรื่องดนตรีพื้นที่บ้านที่ชาวภาคกลางนิยมเล่นนั้น ได้แก่

ซอสามสาย : เป็นซอ ที่มีรูปร่างงดงามที่สุด ซึ่งมีใช้ในวงดนตรีไทย มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย (พ.1350) แล้ว ซอสามสายขึ้นเสียง ระหว่างสายเป็นคู่สี่ใช้บรรเลงในพระราชพิธี อันเนื่องด้วยองค์พระมหากษัตริย์ ภายหลังจึงบรรเลงประสมเป็นวงมโหรี

ซอด้วง : เป็นเครื่องสายชนิดหนึ่ง บรรเลงโดยการใช้คันชักสี กล่องเสียง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขึงหน้าด้วยหนังงู มีช่องเสียงอยู่ด้านตรงข้าม คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีลูกบิดขึ้นสายอยู่ตอนบน ซอด้วงใช้สายไหมฟั่นหรือสายเอ็น มี 2 สาย ขนาดต่างกัน คันชักอยู่ระหว่างสาย ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ซอด้วงมีเสียงแหลม ใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักในวงเครื่องสาย

ซออู้ : เป็นเครื่องสายใช้สี กล่องเสียงทำด้วยกะโหลกมะพร้าว ขึ้นหน้าด้วยหนังวัว มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้าม คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตอนบนมีลูกบิดสำหรับขึงสาย สายซอทำด้วย ไหมฟั่น มีคันชักอยู่ระหว่างสาย ความยาวของคันซอประมาณ 60 เซนติเมตร คันชักประมาณ 50 เซนติมตร ซออู้มีเสียงทุ้มต่ำ บรรเลงคู่และสอดสลับกับซอด้วงในวงเครื่องสาย

จะเข้ : เป็นเครื่องสายที่ใช้บรรเลงด้วยการดีด โดยปกติมีขนาดความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และยาว 140 เซนติเมตร ตัวจะเข้ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ขุดเป็นโพรง มีสาย 3 สาย สายที่ 1-2 ทำด้วยไหมฟั่น สายที่ 3 ทำด้วยทองเหลือง วิธีการบรรเลงมือซ้าย จะทำหน้าที่กดสายให้เกิดเสียง สูง - ต่ำ ส่วนมือขวาจะดีดที่สายด้วยวัตถุที่ทำจากงาสัตว์

ขลุ่ย : ของไทยเป็นขลุ่ยในตระกูลรีคอร์ดเดอร์ คือ มีที่บังคับแบ่งกระแสลม ทำให้เกิดเสียงในตัวไม่ใช่ขลุ่ยผิวตระกูลฟลุตแบบจีน ขลุ่ยไทยมีหลายขนาด ได้แก่ ขลุ่ยอู้มีเสียงต่ำที่สุด ระดับเสียงสูง ได้แก่ ขลุ่ยหลีบ และยังมี เสียงสูงกว่านี้ คือ ขลุ่ยกรวด หรือขลุ่ยหลีบกรวดอีกด้วย ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวงมโหรี

ปี่ : เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ทำด้วยใบตาล เป็นเครื่องกำเนิดเสียง เป็นประเภทลิ้นคู่ (หรือ 4 ลิ้น) เช่นเดียวกับ โอโบ (Oboe) มีหลายชนิดคือ ปี่นอก ปี่ใน ปี่กลาง ปี่มอญ ปี่ไทยที่เด่นที่สุด คือ ปี่ในตระกูลปี่ใน ซึ่งมีรูปิดเปิดบังคับลม เพียง 6 รู แต่สามารถบรรเลงได้ถึง 22 เสียง และสามารถเป่าเลียนเสียงคนพูดได้ชัดเจนอีกด้วย

ระนาดเอก : เป็นระนาดเสียงแหลมสูง ประกอบด้วยลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่บงหรือไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน 21-22 ลูก ร้อยเข้าด้วยกันเป็นผืนระนาด และแขวนหัวท้ายทั้ง 2 ไว้บนกล่องเสียงที่ เรียกว่า รางระนาด ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเรือ ระนาดเอก ทำหน้าที่นำวงดนตรีด้วย เทคนิคการบรรเลงที่ประณีตพิสดาร มักบรรเลง 2 แบบ คือ ตีด้วยไม้แข็ง เรียกว่า ปี่พาทย์ไม้แข็ง และตีด้วยไม้นวมเรียก ปี่พาทย์ไม้นวม ระนาดเอกเรียงเสียงต่ำไปหาสูงจากซ้ายไปขวา และเทียบเสียงโดยวิธีใช้ชันโรงผสม ผงตะกั่วติดไว้ด้านล่างทั้งหัวและท้ายของลูกระนาด

ระนาดทุ้ม : ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งมีผืนละ 18 ลูก มีรูปร่างคล้ายระนาดเอก แต่เตี้ยกว่าและกว้างกว่าเล็กน้อย ระนาดทุ้มใช้บรรเลงหยอกล้อกับระนาดเอก

ฆ้องวงใหญ่ : เป็นหลักของวงปี่พาทย์ และวงมโหรีใช้บรรเลงทำนองหลัก มีลูกฆ้อง 16 ลูก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
- ลูกฆ้อง เป็นส่วนกำเนิดเสียงทำด้วยโลหะผสม มีลักษณะคล้ายถ้วยกลม ๆ ใหญ่เล็กเรียงตามลำดับเสียงต่ำสูง ด้านบนมีตุ่มนูนขึ้นมาใช้สำหรับตีและใต้ตุ่มอุดไว้ด้วยตะกั่วผสมชันโรง เพื่อถ่วงเสียงให้สูงต่ำตามต้องการ
- เรือนฆ้อง ทำด้วยหวายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วเศษ ขดเป็นวง และยึดไว้ด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงเป็นลวดลายคล้ายลูกกรง และมีไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ๆ ค้ำยันให้ฆ้องคงตัวเป็นโครงสร้างอยู่ได้ การผูกลูกฆ้องแขวนเข้ากับเรือนฆ้องผูกด้วยเชือก
ฆ้องวงเล็ก : มีขนาดเล็กกว่า แต่เสียงสูงกว่าฆ้องวงใหญ่มีวิธีตีเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ แต่ดำเนินทำนองเป็นทางเก็บหรือทางอื่นแล้วแต่กรณี บรรเลงทำนองแปรจากฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็กมี 18 ลูก

โทนรำมะนา : รูปร่างคล้ายกลองยาวขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ หรือดินเผา ขึงด้วยหนังดึงให้ตึงด้วยเชือกหนัง ตัวกลองยาวประมาณ 34 เซนติเมตร ตรงกลางคอด ด้านตรงข้ามหน้ากลองคล้ายทรงกระบอก ปากบานแบบลำโพง ตรงเอวคอดประมาณ 12 เซนติเมตร ใช้ตีคู่กับรำมะนา ส่วนรำมะนานั้น เป็นกลองทำหนังหน้าเดียวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตร ใช้ในวงเครื่องสาย

กลองแขก : กลองที่ตีหน้าทับได้ทั้งในวงปี่พาทย์ มโหรีและบางกรณีใช้ในวงเครื่องสายก็ได้ ตีด้วยมือทั้ง 2 หน้า คู่หนึ่งประกอบด้วยตัวผู้ (เสียงสูง) และตัวเมีย (เสียงต่ำ)
กลองสองหน้า : เป็นชื่อของกลองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลองลูกหนึ่งในเปิงมางคอก ขึงด้วยหนังเลียดรอบตัว ใช้ในวงปี่พาทย์ หรือมโหรีบางกรณี

นิทานพื้นบ้านภาคกลาง เป็นสิ่งที่ความบันเทิงเริงใจแก่ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยกเอาเรื่องใกล้ตัว เรื่องเก่าแก่สมัยประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเล่าตั้งแต่ชนชั้นจนถึงระดับคนยากคนจน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทวดาฟ้าดินมาให้ลูกหลานได้ฟังหลายต่อหลายเรื่อง โดยท้ายเรื่องของนิทานนั้น ๆ มักจะสอดแทรกคติสอนใจ และข้อคิดดี ๆ ให้ได้ฟังพร้อมคิดตามอยู่เสมอ ๆ
สำหรับนิทานพื้นบ้านทางภาคกลาง ที่เป็นที่นิยมเล่าสืบต่อกันมามีหลายเรื่องเลยทีเดียวที่สนุกสนาน และนำมาทำเป็นการ์ตูน หรือละครให้ได้ชมกันอย่างมากมาย อาทิ ไกรทอง, สองพี่น้อง, บางแม่หม้าย, ตาม่องล่าย, เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก, เรื่องกล่องข้าวน้อย, ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

การละเล่นพื้นบ้านของชาวภาคกลางนั้น มีทั้งการละเล่นแบบที่ใช้อุปกรณ์เป็นตัวเชื่อมการเล่น หรือการละเล่นเป็นกลุ่ม บ้างก็เป็นการละเล่นแบบเดี่ยว แต่ส่วนมากมักจะมีการร้องเพลงประกอบการละเล่นต่าง ๆ อาทิ หมากเก็บ, ว่าว, ตี่จับ, รำตง, การเล่นโม่ง, สะบ้าล้อ, เพลงเรือบก, คำทาย (โจ๊กปริศนา), เพลงปรบไก่, กลองยาว, หลุมเมือง, เพลงเรืออยุธยา, การแข่งขันวัวลาน, เพลงปรบไก่, การทอยสะบ้า, นางลิงลม, การเข้าผีนางด้ง ฯลฯ




เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลอง หนองบึงมากมาย จึงเป็นแหล่งอาหารทั้งพืชผักและสัตว์น้ำนานาชนิด พื้นที่บางส่วนติดชายฝั่งทะเลทำให้วัตถุดิบ ในการประกอบอาหารหลากหลายอุดมสมบูรณ์ ส่วนอาหารภาคกลางนั้นก็จะมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องการปรุง รสชาติ และการตกแต่งให้หน้าตาอาหารน่ารับประทาน นอกจากนี้ อาหารภาคกลางบางชนิด ยังได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของราชสำนักอีกด้วย
สำหรับอาหารของภาคกลางนั้น มักจะมีน้ำพริกและผักจิ้ม โดยจะรับประทานกับข้าวสวยเป็นหลัก และส่วนมากจะน้ำพริกต่าง ๆ นั้น จะได้รับการผสมผสานระหว่างภาคต่าง ๆ เช่น แกงไตปลา ปลาร้า น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาทู ต้มยำ ผัดเผ็ด ข้าวผัด แกงส้ม ผัดไทย เป็นต้น
และจากข้อมูลที่เราได้นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงขนบธรรมเนียมและประเพณีแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของภาคกลางเท่านั้น หากใครอยากทำความรู้จักกับภาคกลางให้มากขึ้นกว่าเดิม ก็อย่าลืมมาท่องเที่ยวชมโบราณสถาน หรือสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีตามแบบฉบับภาคกลางกันนะคะ "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นหรือจะสู้มือคลำ" แต่จะว่าไป แค่มือคลำอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องลองมาสัมผัสจากสถานที่จริง ๆ กันดูนะคะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น